7/17/2554

ตัวอย่างคนสู้ชีวิตยุควิกฤติเศรษฐกิจ เก็บขวดน้ำทำกระเป๋าสุดหรูสร้างรายได้

ตัวอย่างคนสู้ชีวิตยุควิกฤติเศรษฐกิจ เก็บขวดน้ำทำกระเป๋าสุดหรูสร้างรายได้

ปัจจุบันประเทศไทยกำลังประสบปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจ
เนื่องจากเกิดสภาวะน้ำมันแพง
เป็นเหตุให้ทุกสิ่งที่เกี่ยวกับการครองชีพต่างพาเหรดกันขึ้นราคา
แต่รายได้ของเกษตรกรยังย่ำอยู่กับที่ พืชผลทางการเกษตรก็ตกต่ำ
ทำให้รายได้ไม่พอใช้จ่ายชักหน้าไม่ถึงหลัง ที่ไปขายแรงงาน
ก็ถูกโรงงานต่าง ๆ พากันเลิกจ้างและลดคนงานลง ทำให้มีคนว่างงานมากขึ้น
คนไทยในชนบทจึงมีความยากจนมากขึ้น มีหนี้สินมากขึ้น
ต้องอยู่กันแบบต่อสู้ดิ้นรน
ทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้เงินมาเลี้ยงชีวิตให้อยู่รอด
นางจำปี ทูลมาลา อายุ 53 ปี หญิงม่าย อยู่บ้านเลขที่ 34 หมู่
13 ต.ส้มป่อย อ. จัตุรัส จ.ชัยภูมิ
เป็นนักสู้ชีวิตผู้มีความคิดสร้างสรรค์
เก็บขวดน้ำดื่มพลาสติกที่คนดื่มน้ำหมดแล้วขว้างทิ้งไป
เป็นขยะที่ย่อยสลายยาก สร้างมลพิษให้กับชุมชน
นำกลับมาตัดเย็บเป็นกระเป๋าถือสวยสุดหรู
ไว้ใช้ใส่สิ่งของและถือไปเดินโชว์ตามห้างต่าง ๆ ได้โดยไม่อายใคร
และยังนำมาขายสร้างรายได้เลี้ยงตัวเองได้อีกด้วย
โดยสามารถผลิตคนเดียวได้ถึงเดือนละ 90 ใบ
คุณป้าจำปี เล่าว่า ในอดีตแต่งงานอยู่กับสามีแต่ไม่มีบุตร
ประกอบอาชีพเป็นเกษตรกร ทำไร่ ทำนา เลี้ยงชีพ
แต่ก็เป็นไปอย่างอัตคัดเนื่องจากฝนฟ้าไม่อำนวย
จึงหันไปรับจ้างเย็บผ้าโหลที่เพื่อนบ้านไปรับจากกรุงเทพฯ มาให้เย็บ
และต่อมาเพื่อนบ้านเลิกรับผ้าโหลมาเย็บ ตนเองก็ไม่มีรถไปรับผ้ามาเย็บ
จวบกับสามีก็มาล้มป่วยเสียชีวิตไป เนื่องจากไม่มีบุตรเลี้ยงดู
และไม่มีพละกำลังจะทำไร่ทำนา จึงได้หันมารับจ้างตัดเย็บเสื้อกางเกงให้
คนในหมู่บ้าน และจากการที่ได้ไปซื้ออุปกรณ์ทำเสื้อ กางเกง เช่น ยางยืด
ซิป ตะขอ กระดุม
เจ้าของร้านขายอุปกรณ์ได้นำหูกระเป๋าให้ดูพร้อมกับแนะนำให้เย็บกระเป๋าผ้าขาย
เนื่องจากลงทุนน้อย แต่ได้กำไรดี
เพราะเห็นว่าตนเองมีฝีมือในการทำสิ่งประดิษฐ์และการตัดเย็บ
จึงได้หันมาเย็บกระเป๋าผ้าขายตามคำแนะนำ
ปรากฏว่าไม่เป็นที่นิยมของผู้ใช้เท่าที่ควร เนื่องจากใคร ๆ ก็เย็บเป็น
จึงพยายามนำความคิด ทดลองนำสิ่งของต่าง ๆ ที่ไม่ใช้ทำประโยชน์
มาประดิษฐ์ทำเป็นสินค้าขาย จึงพบว่าขวดน้ำดื่มพลาสติกที่ขายตามท้องตลาด
ที่ผู้ซื้อดื่มน้ำกินหมดแล้วทิ้งขว้าง เป็นขยะอยู่ทั่วไป
เก็บมาล้างทำความสะอาด นำมาใช้กรรไกรตัดคอขวด ตัดก้นขวด
ผ่าขวดออกจากกันแล้วรีดเป็นแผ่น
โดยเลือกเอาขวดที่มีตรายี่ห้อหรือลายตัดให้อยู่ระหว่างกึ่งกลาง
โดยนำด้ายไหมพรมสีต่าง ๆ มาเย็บต่อทำกระเป๋าถือเป็นลายเส้นสีต่าง ๆ
เนื่องจากป้าจำปีเองมีฝีมือในการถักเสื้อไหมพรมเป็นทุนอยู่แล้ว
จึงสามารถเย็บลายต่าง ๆ
บนกระเป๋าอย่างกลมกลืนสวยงามจนเป็นกระเป๋าถือสตรีที่ถือติดตัวไปไหนมาไหน
ชนิดที่ผู้พบเห็นจะต้องเหลียวกลับมามองทีเดียว
จากนั้นมากระเป๋าจากขวดน้ำพลาสติกของป้าจำปี
ได้มีคนในหมู่บ้านและต่างถิ่นมาเห็นต่างพากันซื้อไปใช้
และสั่งให้ทำขนาดต่าง ๆ โดยขนาดกลางราคาใบละ 40 บาท
เดือนหนึ่งทำรายได้กว่า 3,000 บาท สำหรับขวดน้ำดื่มก็ไปหาเก็บทั่วไป
โดยต้องเอาที่มีตราหรือลายบนขวด เนื่องจากไว้เป็นลวดลายที่เก๋ ๆ
กลางกระเป๋าโดยธรรมชาติ โดยไม่ต้องสร้างรูปภาพหรือใส่ลายใหม่
ส่วนความกว้างใหญ่ของกระเป๋า อยู่ที่ความต้องการของผู้สั่งทำ
ถ้าเป็นระดับมาตรฐานปานกลาง ด้านข้าง กระเป๋าใช้ขวดข้างละ 1 ใบ
ด้านกว้างใช้ขวดด้านละ 2 ใบ ก้นกระเป๋าใช้ขวด 1 ใบ
นำมาตัดมารีดตามที่กล่าวข้างต้น เย็บเป็นกระเป๋าเสร็จแล้ว
ก็นำมาใส่หูหิ้วโดยใช้วิธีเย็บด้วยมือเช่นกัน
เป็นอันเสร็จสิ้นการผลิตกระเป๋าจากขวดน้ำ นำออกจำหน่ายได้เลย.
ชาตรี มงคลพิทักษ์ทวี--จบ--

ที่มา: http://www.dailynews.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น