7/17/2554

ชีวิตคู่ : เรื่องรักสดใส

ชีวิตคู่ : เรื่องรักสดใส
นพ. สุกมล วิภาวีพลกุล

สามีภรรยาหลายคู่อยู่ร่วมชีวิตกันได้ยาวนาน...แต่อีกจำนวนมากกลับมิได้เป็นเช่นนั้น
เราพบว่ามีองค์ประกอบที่สำคัญ 3 ประการที่มีผลต่อความสัมพันธ์ ได้แก่
ความรู้สึก การสื่อสารและการปรับตัว

ความสัมพันธ์ = ความรู้สึก + การสื่อสาร + การปรับตัว

ความสัมพันธ์ของคู่สมรสจะมั่นคงหรือเปราะบาง
ก็พิจารณาที่เหตุปัจจัยสามอย่างนี้ โดยเริ่มที่"ความรู้สึก"
ที่มีต่อกันว่าเป็นบวกหรือลบ...เมื่ออยู่ใกล้กันแล้วมีความสุขใจ อบอุ่น
มั่นคง ผูกพัน (ความรู้สึกทางบวก) ตรงข้ามกับความหงุดหงิด รำคาญ
ขุ่นเคือง จนถึงความเคียดแค้นใจต่อกัน (ความรู้สึกทางลบ)
ความรัก (love)
คือความรู้สึกชื่นชมยินดีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือคนใดคนหนึ่ง
มากจนเกิดความปรารถนาขึ้น แล้วจึงแยกความปรารถนาเป็น 2 อย่าง ได้แก่
• "ความเมตตา" คือ ความรักที่ปรารถเป็นผู้ให้ (give) เป็นรักแท้ คือ
ความผูกพัน ปรองดอง ห่วงใย คิดถึง เห็นใจ เข้าใจ เอื้ออาทร เสียสละ
ให้อภัย
• "ความเสน่หา" คือ ความรักที่ปรารถนาเป็นผู้รับ (take)
มีรากฐานจากราคะที่ปลอมตัวมาในรูปของความรัก ได้แก่ ความต้องตา ติดใจ
หลงเสน่ห์ หลงใหล เคลิบเคลิ้ม คลั่งไคล้ โหยหา...
ความรักระหว่างหญิงชายที่มีเฉพาะความเมตตาอย่างเดียว
โดยปราศจากความเสน่หา ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ชีวิตคู่
เพราะคบกันเป็นเพื่อนสนิทหรือกัลยาณมิตรก็เพียงพอ
ความรักที่สมบูรณ์ในคู่สามีภรรยา คือมีความเสน่หาเป็นพื้นฐาน
และต้องความเมตตามาประกอบกัน...โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
เมื่อใช้ชีวิตคู่ผ่านไปนานหลายสิบปี ความเสน่หาลดลง ความเมตตาต้องมากขึ้น

เราอาจแบ่งความรักเป็น 4 ระดับก็ช่วยให้จดจำได้ง่าย...ความรัก 4 เกรด ได้แก่
• เกรด 1 - รักใคร่ใฝ่กามา (lust) ปรารถนาเพียงสัมผัสสัมพันธ์ทางเพศ
แต่ไม่ต้องการความผูกพัน
• เกรด 2 - รักปรารถนามาคู่กัน (eros) ความรักใคร่ระหว่างหนุ่มสาว
ซึ่งอาจมีความหึงหวงตามมา
• เกรด 3 - รักปันแบ่งความสุข (well wish) หมั่นทำให้คนรักมีความสุข
หลีกเลี่ยงไม่ทำในสิ่งที่ทำให้คนรักเป็นทุกข์
และให้อภัยเมื่ออีกฝ่ายทำให้เสียใจหรือเจ็บใจ
• เกรด 4 - รักยอมทุกข์เพื่อสุขเธอ (devoted love) เป็นความรักแบบอุทิศ
ยอมเสียสละความสุขส่วนตนเพื่อคนที่เรารัก
เครื่องมือที่สำคัญในการพัฒนาความรักจากเสน่หาไปเป็นความเมตตา
หรือบั่นทอนความรักให้จืดจางแล้วกลายเป็นความโกรธเคืองต่อกัน คือ
"การสื่อสาร"
การสื่อสารมี 2 รูปแบบ คือคำพูด (สื่อสารความคิด) และภาษากาย เช่น
น้ำเสียง แววตา สีหน้า ท่าทาง ระยะห่าง การสัมผัส (สื่อสารความรู้สึก)
ซึ่งแยกได้เป็น 2 อย่าง ได้แก่
• สื่อสารทางบวก (พูดหรือทำให้อีกฝ่ายมีความสุข) เพิ่มพูนความรัก
สร้างสรรค์ความสัมพันธ์เกิดพัฒนาการ
• สื่อสารทางลบ (พูดหรือทำให้อีกฝ่ายเป็นทุกข์) บั่นทอนความรัก
ผลสุดท้ายต้องอยู่ร่วมกันด้วยพันธนาการ
คู่สมรสที่สื่อสารทางบวกต่อกันอย่างสม่ำเสมอจะสามารถพัฒนาความรักแบบเสน่หาไปเป็นความเมตตา
ในทางตรงข้ามหากถนัดในการใช้การสื่อสารทางลบเป็นประจำจะค่อยๆทำลายความรู้สึกปรารถนาดีต่อกัน
และเพิ่มพูนความขุ่นเคืองใจให้มากขึ้น จนนำไปสู่การหย่าร้างแยกทางกัน
วัฒนธรรมไทยมีความพร่องในการสื่อสาร 3 ประการ ได้แก่
1. ไม่นิยมการสื่อสารทางกาย ไม่สัมผัส ไม่แตะต้องเนื้อตัวแม้แต่คนที่เรารัก
2. เมื่อเกิดความรู้สึกที่ดี ไม่ชื่นชมพฤติกรรมของอีกฝ่าย พูดชมกันไม่เป็น
3. สื่อสารทางลบ แม้มีความปรารถนาที่ดี ทำให้เสียความสัมพันธ์
เมื่อใดก็ตามที่คู่สมรสของเรามีการปฏิบัติบางอย่างที่ทำให้เราเป็นทุกข์
แทนที่จะตำหนิหรือด่าว่า
ควรใช้การสื่อสารทางบวกเพื่อให้อีกฝ่ายเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมซึ่งมีทั้งหมด
3 ขั้นตอน ได้แก่
1. พูดถึงสิ่งที่เขาทำ
2. พูดถึงความรู้สึกของเราที่เกิดขึ้น (โดยไม่ต้องมีการตัดสินว่าถูก -
ผิด, ดี - เลว)
3. พูดถึงสิ่งที่อยากให้เขาเปลี่ยนแปลง
ทั้งสามขั้นตอนนี้ต้องสื่อด้วยคำพูด
หลังจากที่เราจัดการกับอารมณ์ทางลบที่เกิดขึ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
หากพูดตอนที่ยังโกรธอยู่ ก็สร้างความไม่พอใจให้อีกฝ่ายได้
แต่การที่คนสองคนที่แตกต่างกันต้องมาใช้ชีวิตร่วมกัน ต้องอาศัย
"การปรับตัว" เข้าหากัน…แทนที่จะเอาแต่ใจตนเอง
และคาดหวังให้อีกฝ่ายเป็นหรือทำในสิ่งที่เราต้องการ
การปรับตัว มี 2 องค์ประกอบ ได้แก่
• การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตนเอง ให้เป็นไปตามความต้องการของอีกฝ่าย
• การปรับตัวให้ยอมรับสิ่งที่อีกฝ่ายเป็น
หรืออยู่กับสิ่งที่เขาเป็นอย่างไม่ต้องเป็นทุกข์
ส่วนหนึ่งของความล้มเหลวในชีวิตคู่ คือ ความคาดหวังสูงในคู่สมรส
อยากให้เขาเป็นหรือทำในสิ่งที่เราต้องการ
ซึ่งคนแต่ละคนก็มีลักษณะนิสัยหลายอย่างที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้
นำไปสู่ความผิดหวัง
หากคู่สมรสไม่สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมบางอย่างได้
การปรับตัวที่สำคัญของอีกฝ่ายคือลดความคาดหวังลง เปรียบเสมือน
"การไม่สามารถเพิ่มน้ำให้เต็มแก้วได้
จึงต้องลดขนาดแก้วให้พอดีกับปริมาตรน้ำที่มีอยู่"


ชีวิตคู่ : เรื่องใคร่สุขสม
นพ. สุกมล วิภาวีพลกุล

ความรักที่สมบูรณ์ในคู่สามีภรรยา
คือความเสน่หาที่มีความเมตตามาประกอบกันอย่างลงตัว มีทั้งการให้ (give)
และการรับ (take) ...อาศัยเครื่องมือที่สำคัญ
คือการสื่อสารทางบวกด้วยคำพูดและภาษากาย
พร้อมกับการปรับตัวเพื่อให้ความแตกต่างของคนทั้งสองอยู่ร่วมกันอย่างไม่เป็นทุกข์
เพศสัมพันธ์ในคู่สมรส
เป็นการสื่อสารความรักความเสน่หาด้วยภาษากายที่ลึกซึ้งที่สุดเท่าที่มนุษย์สองคนจะกระทำต่อกันได้...เพราะหากปราศจากความรักต่อกันแล้ว
เพศสัมพันธ์นั้นไม่ต่างจากการใช้ร่างกายของอีกฝ่ายเพื่อเป็นเครื่องมือในการระบายความต้องการทางเพศของตน
ข้อเท็จจริงของเรื่องเซ็กซ์ก็คือ
มันมีผลกระทบทั้งทางบวกและลบต่อความสัมพันธ์ในฐานะสามีภรรยา
กล่าวคือหากความสัมพันธ์ทางเพศไปได้ดีก็ช่วยให้สนับสนุนความรักความเสน่หาต่อกัน
แต่หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีข้อจำกัดในเรื่องเพศหรือมีความบกพร่องเกิดขึ้น
อาจส่งผลบั่นทอนความสุขในชีวิตคู่สมรสได้
ตัวอย่างภาวะบกพร่องทางเพศของผู้หญิง เช่น
ภาวะช่องคลอดเกร็งตัวจนไม่สามารถร่วมเพศได้ (Vaginismus)
ภาวะเจ็บปวดเมื่อมีการร่วมเพศ (Dyspareunia)
ภาวะรังเกียจการมีเพศสัมพันธ์ (Sexual Aversion Disorder)
ทำให้ต้องปฏิเสธการมีความสัมพันธ์ทางเพศกับสามี...อาจนำไปสู่ปัญหาการนอกใจ
จนในที่สุดชีวิตคู่อาจร้าวฉานได้
ปัญหาเรื่องเพศที่พบบ่อยในฝ่ายหญิง
คือการไม่สามารถถึงจุดสุดยอดจากเพศสัมพันธ์ได้ ซึ่งแยกเป็น 2 กรณี คือ
• หากสำเร็จความใคร่สามารถถึงจุดสุดยอดได้ แต่ร่วมเพศแล้วไม่ถึงจุดสุดยอด
มีสาเหตุ 4 ประการได้แก่
1. ภาวะจิตใจที่ไม่ผ่อนคลาย เช่น สิ่งแวดล้อมไม่เป็นส่วนตัว ความไม่พร้อมทางอารมณ์
2. สามีไม่เล้าโลม ทำให้ไม่มีการตื่นตัวทางเพศ
3. สามีร่วมเพศไม่ตรงจุด ซึ่งสามารถแก้ไขได้ด้วยการปรับท่วงท่าลีลารัก
เพื่อให้องคชาตเสียดสีที่คลิตอริสและบริเวณผนังด้านหน้าของช่องคลอดโดยตรง
4. ปัญหาความบกพร่องทางเพศของสามี ที่พบบ่อยได้แก่ โรคหลั่งเร็ว
และองคชาตไม่แข็งตัว
• หากสำเร็จความใคร่ก็ไม่ถึงจุดสุดยอด ร่วมเพศก็ไม่ถึงจุดสุดยอด
แสดงว่าเป็นปัญหาที่ภาวะความไวของระบบประสาท สามารถแก้ไขได้โดย
 ลดปัจจัยที่ยับยั้งการตื่นตัวทางเพศ เช่น ทัศนคติทางลบต่อเรื่องเพศ
เห็นว่ากิจกรรมทางเพศเป็นเรื่องสกปรกหรือผิดบาป
 เพิ่มการทำงานของระบบประสาทผ่อนคลาย เช่น ฝึกสมาธิ สะกดจิต กำหนดลมหายใจ
 เพิ่มการกระตุ้นให้ตื่นตัวทางเพศ เช่น กระตุ้นด้วยภาพเย้ายวน
หรือการสัมผัสทางผิวหนัง

ปัญหาเรื่องเพศที่พบบ่อยในฝ่ายชาย คือโรคหลั่งเร็ว
และภาวะบกพร่องของการแข็งตัวขององคชาต มีรายละเอียด ดังนี้

โรคหลั่งเร็ว (ล่มปากอ่าว หรือนกกระจอกไม่ทันกินน้ำ) หมายถึง
การถึงจุดสุดยอดและมีการหลั่งน้ำอสุจิเกิดขึ้นหลังจากมีการกระตุ้นทางเพศเพียงเล็กน้อย
โดยเกิดขึ้นก่อนการสอดใส่ ขณะกำลังสอดใส่
หรือภายในระยะเวลาอันสั้นหลังจากสอดใส่
และเกิดขึ้นก่อนที่ผู้นั้นปรารถนาให้เกิดขึ้น
ทำให้เกิดเป็นทุกข์หรือก่อให้เกิดปัญหาความสัมพันธ์ในชีวิตคู่
ปัจจุบันรักษาด้วยยาแก้ซึมเศร้า ที่นิยมใช้ได้แก่ Fluoxetine,
Clomipramine, Sertraline และ Paroxetine
ซึ่งมีฤทธิ์ข้างเคียงไปลดความไวของเส้นประสาท
ทำให้หลั่งช้าลงและร่วมเพศได้นานขึ้น
แพทย์จึงใช้ฤทธิ์ข้างเคียงมาเป็นฤทธิ์ในการรักษาโรคหลั่งเร็ว
วิธีการกินยา คือให้กินต่อเนื่องทุกวันอย่างน้อยประมาณ 3 – 6 เดือน
ต่อจากนั้นจึงลดเวลากินยาเหลือสัปดาห์ละ 2 ครั้ง
แล้วจึงค่อยลดลงเป็นกินเฉพาะวันที่ต้องการมีเพศสัมพันธ์
โดยกินก่อนร่วมเพศ 3 – 4 ชั่วโมง
ในขณะที่ค่อยๆเพิ่มขนาดยาจนถึงระดับที่เพียงพอต่อการออกฤทธิ์

ภาวะบกพร่องของการแข็งตัวขององคชาต (มะเขือเผาหรือนกเขาไม่ขัน)
การรักษาที่สำคัญคือ ต้องหาสาเหตุที่ทำให้เกิด และรักษาสาเหตุนั้น
• สาเหตุทางกาย (พบบ่อยในผู้ชายที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป) ได้แก่
เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ ฮอร์โมนเพศชายต่ำ
ฤทธิ์ข้างเคียงของยาบางชนิด อุบัติเหตุที่ไขสันหลัง
การผ่าตัดบริเวณอุ้งเชิงกราน โรคพิษสุราเรื้อรัง การสูบบุหรี่เป็นเวลานาน
• สาเหตุทางจิตใจ (มักเป็นในผู้ชายอายุน้อยกว่า 40 ปี) เช่น ความเครียด
อดนอน ภาวะซึมเศร้า ความประหม่า กังวล หรือปัญหาความสัมพันธ์ในชีวิตคู่
เช่น รู้สึกหงุดหงิด ไม่พอใจ รังเกียจ เบื่อหน่าย
หรือแม้แต่ความรู้สึกในทางบวก เช่น เทิดทูนบูชา เมตตา ทะนุถนอม สงสาร
ก็ทำให้เกิดภาวะองคชาตไม่แข็งตัวได้ (เรียกว่า Madonna - Whore Syndrome)
นอกจากการรักษาสาเหตุแล้ว อาจพิจารณารักษาอาการ (ไม่แข็งตัว) ให้ดีขึ้น
ซึ่งมีวิธีการมากมาย แต่ที่นิยมในปัจจุบัน ได้แก่ กินยา (Viagra, Levitra
และ Cialis) หรือใช้กระบอกสุญญากาศ

คู่สมรสที่สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้สม่ำเสมออย่างมีความสุข
เป็นตัวบ่งชี้ถึงสุขภาพทางกายและจิตที่ดี
แต่หากมีภาวะบกพร่องในเรื่องทางเพศอาจสะท้อนถึงปัญหาทางจิตใจหรือภาวะโรคทางกายที่ซ่อนเร้น
ในปัจจุบันความรู้ทางการแพทย์ได้พัฒนาวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพ
สามารถช่วยแก้ไขปัญหาความบกพร่องที่เกิดขึ้น
และฟื้นฟูความสัมพันธ์ในชีวิตคู่ (Marital life)
เพื่อให้สามีภรรยาถนอมรักไว้ให้ยั่งยืน
ก่อให้เกิดความสุขแก่สมาชิกในครอบครัว นำไปสู่ความเข้มแข็งทางสังคม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น