7/16/2554

บทความตอนที่ 1: เลิกทานอาหารขยะเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า

บทความตอนที่ 1: เลิกทานอาหารขยะเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า
โดย จิตติมา จันทนะมาฬะกะ นักเขียนภาคประชาสังคม ประเทศไทย
ประเทศไทยมีสถานการณ์ของโรคอ้วนรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ
และคนไทยเป็นโรคเบาหวานมากขึ้นเป็นเงาตามโรคอ้วน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคเบาหวานชนิดที่ 2
เพิ่มมากขึ้นในเด็กและเยาวชนที่อ้วน คาดว่าคนไทยไม่ต่ำกว่า 3
ล้านคนกำลังเผชิญกับโรคเบาหวาน
ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะต้องให้ความสนใจอย่างยิ่งต่อการป้องกันโรคเบาหวาน
โดยต้องจัดการโรคอ้วน อ้วนลงพุง และภาวะน้ำหนักมากเกิน
โดยเริ่มจากวัยเด็ก เยาวชน รวมทั้งผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ
การลดน้ำหนักอย่างถูกต้องกำลังดำเนินการโดยหลายหน่วยงาน องค์กร
และหลายเครือข่าย เช่น เด็กไทยไม่กินหวาน โรงเรียนปลอดน้ำอัดลม
โภชนาการสมวัย เครือข่ายคนไทยไร้พุง ภาคีร่วมใจคนไทยไร้พุง เป็นต้น
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้น้ำหนักตัวมากเกินหรือเกิดโรคอ้วนคือ
รับประทานอาหารไม่ถูกตามหลักโภชนาการ
และขาดการออกกำลังหรือการมีกิจกรรมทางกายที่เหมาะสม
ซึ่งเป็นปัญหาในทุกประเทศทั่วโลก
ดร.มาร์ติน ศิลิงค์ ประธานสหพันธ์เบาหวานนานาชาติ (International
Diabetes Federation - IDF) กล่าวว่า
โรงเรียนไม่ได้สนับสนุนให้นักเรียนได้เล่นกีฬาและออกกำลังกายเท่าที่ควร
และในขณะเดียวกันคอมพิวเตอร์ก็เข้ามาแทนที่สนามเด็กเล่น
เขาอยากเห็นผู้คนกลับไปใช้ชีวิตเหมือนอย่างเมื่อก่อน และเด็กๆ
หันหลังให้กับอาหารขยะ และวิถีชีวิตสมัยใหม่ที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย
กลับไปเดิน ปั่นจักรยาน วิ่ง เล่นกันอย่างสนุกสนาน
มากกว่าที่จะนั่งเป็นเวลานานๆ อยู่หน้าโทรทัศน์ หรือจอคอมพิวเตอร์
มิเช่นนั้นแล้วโรคเบาหวานและโรคที่ไม่ติดต่ออื่นๆ
จะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนี้
ดร.มาร์ติน ยังสนับสนุนเรื่องการตรวจสุขภาพของเด็กๆ ในระดับโรงเรียน
ซึ่งประเทศสิงคโปร์และญี่ปุ่นเองก็พบว่ามีจำนวนเด็กที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่
2 เพิ่มมากขึ้น และได้มีการดำเนินการดังกล่าวเช่นเดียวกัน
วัตถุประสงค์ของสหพันธ์เบาหวานนานาชาติ (International Diabetes
Federation - IDF)
ในการที่จะบรรเทาความทุกข์ทรมานอันเนื่องมาจากโรคเบาหวาน
โดยการให้ความสำคัญในเรื่องของการป้องกันและการดูแลเอาใจใส่นับตั้งแต่ทารกในครรภ์
จนกระทั่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่นั้น
มีเป้าหมายสูงสุดเพื่อผลักดันรัฐบาลและผู้ที่จะกำหนดนโยบาย
ตลอดจนนายทุนทั่วโลกให้ความสำคัญกับประเด็นต่างๆ ดังกล่าว
หากว่าไม่ได้มีการให้ความสำคัญกับการดำเนินการในเรื่องของสาธารณสุขอย่างจริงจังแล้ว
ในอีก 10 ปีข้างหน้าความพิการหรือการเสียชีวิตก่อนวัยอันสมควรจากปัญหาโรคหัวใจ
มะเร็ง โรคเบาหวานและโรคหลอดเลือดหัวใจจะเพิ่มมากขึ้นสูงกว่า 21%
ในประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียใต้
สำหรับหัวข้อในการรณรงค์ วันเบาหวานโลก ระหว่างปี คศ. 2009 - 2013
ภายใต้การนำของ สหพันธ์เบาหวานนานาชาติ และองค์กรสมาชิกต่างๆ ได้แก่
'การให้ความรู้ และการป้องกันโรคเบาหวาน' หรือ 'Diabetes education and
prevention' ทั้งนี้ได้มีการเรียกร้องให้ผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบในเรื่องการดูแลรักษาโรคเบาหวานมีความรู้
ความเข้าใจที่ถูกต้องเพื่อช่วยในการควบคุมโรคเบาหวาน
สำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน นี่เป็นการส่งผ่านข้อความเพื่อให้ใช้ความรู้
ความเข้าใจเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับตนเอง และสำหรับรัฐบาลต่างๆ
นี่เป็นการเรียกร้องให้มีการวางแผนนโยบายที่มีประสิทธิภาพ
ตลอดจนการป้องกันและจัดการเพื่อสุขภาพความปลอดภัยของประชาชนจากโรคเบาหวาน
สำหรับผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพนี่คือการเรียกร้องเพื่อให้มีการปรับปรุงองค์ความรู้ต่างๆ
เพื่อจะได้นำคำแนะนำไปใช้ได้ในเชิงปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม
และสำหรับประชาชนโดยทั่วไป
อาจกล่าวได้ว่านี่เป็นการเรียกร้องให้ทำความเข้าใจและตระหนักถึงผลกระทบอันร้ายแรงของโรคเบาหวาน
รู้ว่าโรคเบาหวานเกิดขึ้นได้อย่างไร และจะต้องทำอย่างไรเพื่อหลีกเลี่ยง
หรือชะลอการเกิดโรคเบาหวานและโรคแทรกซ้อนอื่นๆ อันอาจเกิดขึ้นตามมาได้
สำหรับสโลแกนที่ใช้ในการรณรงค์ วันเบาหวานโลกในปี คศ. 2009 นั้น คือ
'ทำความเข้าใจ และควบคุมโรคเบาหวาน' หรือ 'Understand Diabetes and Take
Control' ซึ่งขณะนี้มีประชากร จำนวน 250
ล้านคนทั่วโลกใช้ชีวิตอยู่กับเบาหวานและครอบครัวของเขา
แต่ละคนต้องใช้ความเอาใจใส่ดูแลรักษาตนเองอย่างมากและนั่นจึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้พวกเขาต้องได้รับข้อมูล
ความรู้ที่เป็นประโยชน์อย่างต่อเนื่อง
โดยผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพซึ่งมีทักษะเป็นอย่างดี
จากข้อมูลของสหพันธ์เบาหวานนานาชาติ คาดว่าผู้ป่วยด้วยโรคเบาหวานชนิดที่
2 จะเพิ่มเป็นมากกว่า 300 ล้านคนทั่วโลก
ซึ่งเบาหวานชนิดดังกล่าวนี้สามารถป้องกันได้
โดยการช่วยเหลือและให้กำลังใจผู้ที่มีความเสี่ยงให้ควบคุมน้ำหนักและออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ
ประเทศอินเดีย ประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงของเรา
เป็นประเทศที่มีสถานการณ์ของโรคอ้วนรุนแรง โรคดื้ออินซูลิน
และเบาหวานชนิดที่ 2 รวมถึงเด็กและเยาวชน
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของอินเดีย ดร.อันบูมานี รามาดอส
ได้แสดงความเป็นห่วงต่อประเด็นเรื่องโรคเบาหวาน
โดยกล่าวย้ำว่าเป้าหมายของนโยบายการรณรงค์เรื่องสุขภาพของอินเดียควรที่จะกระตุ้นให้ประชาชนได้ตระหนักถึงคุณค่าของการมีสุขภาพที่ดี
และควรมีการติดฉลากอาหารในประเทศอินเดีย
ซึ่งอาหารทุกประเภทจะต้องระบุถึงข้อมูลทางโภชนาการและส่วนประกอบ น้ำหนัก
สารอาหาร และปริมาณแคลอรี่ ตลอดจนคุณค่าทางโภชนาการอีกด้วย ดร.อันบูมานี่
ยังกล่าวถึงการจัดการอย่างเข้มงวดจากทางโรงเรียนเพื่อไม่ให้มีอาหารขยะ
อย่างพิซซ่า หรือ ซาโมซาส์ ขายในบริเวณโรงเรียน
เพื่อเพิ่มสภาวะแวดล้อมที่ดีสำหรับนักเรียน
ดร.อันบูมานียังได้เน้นในเรื่องความสำคัญของการเรียนการสอนโยคะ
สำหรับเด็ก เนื่องจากประโยชน์ที่เด็กๆ
จะได้รับต่อสุขภาพทั้งด้านร่างกายและจิตใจ
ผู้ปกครอง ชุมชน โรงเรียน และครู
ต่างก็เป็นบุคคลที่มีบทบาทที่จะนำไปสู่ความร่วมมือในเรื่องของสุขภาพระดับชาติซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่ง
การเริ่มต้นดูแลสุขภาพโดยเริ่มตั้งแต่ระดับครอบครัวและชุมชนจะสร้างศักยภาพในการส่งเสริมการเคลื่อนไหวประเด็นหลักๆ
ที่เกี่ยวเนื่องกับสุขภาพในสังคม ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ
ศาสตราจารย์ ดร. รามากัณฑ์ ซึ่งได้รับรางวัล Director-General
จากองค์การอนามัยโลก (The World Health Organization - WHO) ในปี 2005
และเป็นหัวหน้าคลินิกเท้าเบาหวานแผนกศัลยกรรม มหาวิทยาลัย CSM Medical
University ได้แสดงความคิดเห็นว่า
บทบาทของครอบครัวและชุมชนมีอิทธิพลอย่างมากต่อการเดินไปข้างหน้า
การรับประทานขนมหวานจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ขม หรือการมีสุขภาพที่ไม่ดี
ศ.ดร.รามากัณฑ์ ได้กล่าวถึงการควบคุมระดับน้ำตาลในโรคเบาหวานประเภทที่ 1
ซึ่งการที่ระบบเผาผลาญของร่างกายไม่ทำงาน
ทำให้ร่างกายผลิตสารอินซูลินได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ
ผู้ป่วยจึงต้องการการสนับสนุนจากครอบครัวเป็นอย่างมาก
สำหรับโรคเบาหวานชนิดที่ 2
ซึ่งเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับโรคอ้วนอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนสมัยใหม่นั้น
ผู้ปกครองจำนวนมากต้องมัวยุ่งกับภาระกิจการงานและปล่อยให้เด็กรับประทานอาหารขยะตั้งแต่อายุน้อยๆ
การที่เด็กต้องทำการบ้านมาก
การใช้อินเตอร์เน็ตและไม่ได้รับการออกกำลังกายในโรงเรียนอย่างเหมาะสมหรือรอบๆ
บ้าน ทำให้เป็นการยากที่เด็กๆ จะมีความกระตือรือร้น แคล่วคล่องว่องไว
จากปัจจัยต่างๆ ดังกล่าว ศ.ดร.รามากัณฑ์
ได้ดำเนินโครงการให้การศึกษาเกี่ยวกับโรคเบาหวานซึ่งเรียกว่า 'MARG'
ร่วมกับหลายๆ โรงเรียนในเมืองลักนาว (Lucknow) ประเทศอินเดียอยู่ในขณะนี้
เพื่อป้องกันโรคอ้วนและโรคเบาหวานโดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และการใช้ชีวิตอย่างแข็งแรง
คล่องแคล่วว่องไวและเต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง
ดร.สำลี เปลี่ยนบางช้าง
ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (WHO's
South East Asian Regional Office - SEARO) กล่าวว่า
เราไม่ควรอยู่เพื่อกิน แต่กินเพื่ออยู่ คติเตือนใจง่ายๆ
ที่จะช่วยให้เราหลีกเลี่ยงจากโรคเบาหวานได้
โดยการรับประทานอาหารให้ถูกสุขลักษณะ และออกกำลังกายเป็นประจำ ดร.สำลี
ได้ทดลองปฏิบัติด้วยตัวเองเพื่อเป็นแบบอย่างและสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างง่ายดายด้วยการใช้ชีวิตอย่างมีระเบียบแบบแผน
ดร.สำลี ย้ำว่าต้องการเห็นสื่อต่างๆ
แสดงบทบาทหลักในการรณรงค์ให้ประชาชนได้ตระหนักถึงประโยชน์ของความพอเหมาะพอดีของการรับประทานอาหาร
และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการขับเคลื่อนเพื่อที่จะต่อด้านเครื่องดื่มประเภทน้ำอัดลมจะดำเนินต่อไป
อาจกล่าวได้โดยรวมอย่างชัดเจนว่าการดูแลควบคุมโรคเบาหวานและโรคแทรกซ้อนต่างๆ
ควรเริ่มต้นตั้งแต่ขณะที่ทารกอยู่ในครรภ์มารดา
สตรีมีครรภ์ควรได้รู้ถึงข้อควรระวังเพื่อหลีกเลี่ยงจากโรคเบาหวานโดยการควบคุมการรับประทานอาหารและการทำกิจกรรมต่างๆ
เพื่อให้มีการเคลื่อนไหวทางร่างการอย่างเหมาะสม
เมื่อเด็กเกิดก็ควรได้รับการดูแลเรื่องพฤติกรรมการรับประทานอาหารอย่างถูกสุขลักษณะตั้งแต่วัยทารก
ผู้ปกครองควรตระหนักว่าการปล่อยให้เด็กดื่มน้ำอัดลมและรับประทานอาหารขยะไม่ใช่แฟชั่น
แต่เป็นการทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บตามมา
การดูทีวีและเล่นเกมส์อินเตอร์เน็ตเป็นอีกพฤติกรรมหนึ่งที่ควรได้รับการควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด
เพราะไม่เพียงแต่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กๆ
ไม่ได้ใช้เวลาในการทำกิจกรรมต่างๆ อย่างที่ควรจะเป็น
แต่การดูโฆษณาทางทีวียังทำให้เด็กๆ ถูกครอบงำด้วยค่านิยมที่ผิดๆ
จากโฆษณาของอาหารขยะต่างๆ อีกด้วย
คำแนะนำที่เรามักได้ยินเรื่องการนอนหลับพักผ่อนวันละ 7-8
ชั่วโมงมีความสำคัญอย่างมาก
จากผลการศึกษาบอกให้เราได้รู้ว่าการนอนหลับไม่เพียงพอจะทำให้เกิดภาวะดื้ออินซูลิน
อาจกล่าวได้ว่าทัศนคติที่ไม่ถูกสุขลักษณะบนวิถีการดำรงชีวิตแบบใหม่ประกอบกับระยะเวลาที่ใช้ในการพักผ่อนไม่เพียงพอ
ทำให้คนจำนวนมากมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่ออันตรายที่เกิดจากน้ำหนักตัวเกินและขาดการออกกำลังกาย
นำไปสู่โรคเบาหวานในที่สุด
การที่คนในชาติมีสุขภาพดีทั้งกายและจิตเท่านั้นจึงจะเรียกได้ว่าเป็นความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาตินั้นๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น