สถานที่ท่องเที่ยว ที่จะแนะนำวันนี้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ในเมืองโคราชคือ ปราสาทหินพิมาย ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นปราสาทหินที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ร่องรอยอารยธรรมของขอมโบราณที่ยังคงความงดงามและสะท้อนความรุ่งเรืองในอดีตให้อนุชนรุ่นต่อๆ มาได้เรียนรู้ ศึกษาพร้อมกับชื่นชมความงดงามและยิ่งใหญ่
อำเภอพิมาย อันเป็นที่ตั้งของอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย สถานที่ท่องเที่ยวที่ดูจะเป็นจุดเริ่มต้นในการท่องเที่ยวปราสาทขอมของเมืองโคราช ที่สำคัญปราสาทหินพิมายแห่งนี้ยังเป็นปราสาทหินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และสวยที่สุดอีกด้วย จากอำเภอพิมาย ในโคราชยังมีปราสาทหินแหล่งอารยธรรมขอมอีกหลายแห่งให้เที่ยวชม สนุกกับการเที่ยวชมโบราณสถานและความรุ่งเรืองของขอมโบราณกันอย่างจุใจเลยทีเดียวประวัติโดยย่อของสถานที่ท่องเที่ยวปราสาทหินพิมาย
ปีที่สร้าง: พุทธศตวรรษที่ 16-17 (พ.ศ. 1724-1763)
ลัทธิศาสนา: พุทธศาสนสถาน นิกายมหายาน
ศิลปะแบบ: ปาปวนผสมผสานศิลปะแบบนครวัด
กษัตริย์: พระเจ้าชัยวรมันที่ 7
พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้ชื่อว่าเป็นกษัตริย์ที่มีงานสร้างปราสาทหินมากที่สุด หลังจากกอบกู้อาณาจักรขอมจากพวกจามแล้ว พระองค์ก็ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ ในปี พ.ศ. 1724 พร้อมกับบูรณะราชธานีขึ้นมาใหม่ คือ "เมืองพระนครหลวง" หรือ "นครธม" และย้ายศูนย์กลางของราชธานีจากปราสาทปาปวนมายังปราสาทบายนที่สร้างขึ้นใหม่ ให้เป็นศาสนสถานในลัทธิมหายานแทน
นอกเหนือจากการสงครามแล้ว พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้สร้างพุทธสถานไว้มากมาย เช่น สร้างปราสาทตาพรม ถวายพระมารดา สร้างปราสาทพระขรรค์ ถวายพระบิดา ปราสาทตาสม ปราสาทนาคพัน ปราสาทบันทายฉมาร์ อยู่ที่เมืองเสียมราฐ กัมพูชา ส่วนในเขตประเทศไทยยังมีปราสาทหินพิมายและปราสาทเขาพนมรุ้ง ซึ่งเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนาลัทธิมหายานด้วย
นอกจากนี้ พระองค์ยังโปรดให้สร้าง "บ้านมีไฟ" หรือที่พักคนเดีนทาง ซึ่งก่อด้วยศิลา และจุดไฟไว้ตลอด หรือที่เรียกกันว่า "ธรรมศาลา" จากจารึกที่ปราสาทพระขรรค์กล่วาถึงที่พักคนเดินทางมีมากถึง 121 แห่ง อยู่ตามทางเดินทั่วราชอาณาจักร และตามทางเดินไปเมืองต่างๆ ในจำนวนนั้น มี 17 แห่งอยู่ระหว่างการเดินจากเมืองพระนครไปยังเมืองพิมาย แต่ละแห่งห่างกันประมาณ 12-15 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังมีการสร้างโรงพยาบาล หรือ "อโรคยาศาลา" จำนวน 102 แห่ง กระจายอยู่ทั่วราชอาณาจักร ซึ่งมีส่วนหนึ่งอยู่ในเขตประเทสไทยด้วย
พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงสิ้นพระชนม์ราวปี พ.ศ. 1758 หรือ พ.ศ. 1762 เชื่อกันว่าทรงมีพระชนม์ชีพยืนยาวถึง 94 ปี ได้ฉลองพระนามหลังสวรรคตว่า "มหาบรมสุคตะ" หมายควาสมว่า พระพุทธเจ้าผู้ยิ่งใหญ่
มีอะไรน่าสนใจในสถานที่ท่องเที่ยวปราสาทหินพิมาย
ในสถานที่ท่องเที่ยวปราสาทขอมทั่วไปนั้น จุดเด่นจะคล้ายๆ คน เช่น ความงดงามของภาพจำหลัก ภาพสลัก ลักษณะของปราสาทหิน และถ้าจะให้ดีต้องรู้จักศิลปะในยุคต่างๆ รวมทั้งความเชื่อของการสร้างปราสาทด้วย
สะพานนาคราช
เมื่อคุณเข้าไปในสถานที่ท่องเที่ยวชมปราสาทหินพิมายจะผ่านส่วนนี้เป็นที่แรก จะพบสะพานนาคราชและประติมากรรมรูปสิงห์ ตั้งอยู่ด้านหน้าของซุ้มประตูด้านทิศใต้ของปรางค์ประธาน ซึ่งเป็นด้านหน้าของปราสาท มีลักษณะเป็นรูปกากบาทยกพื้นขึ้นสูงจากพื้นดินประมาณ 2.50 เมตร ราวสะพานโดยรอบทำเป็นลำตัวพญานาค ชูคอแผ่พังพานเป็นนาคเจ็ดเศียร มีลำตัวติดกันเป็นแผ่น หันหน้าออกไปยังเชิงบันไดทั้งสี่ทิศ สะพานนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการเดินทางเข้าสู่ศาสนสถานอันศักดิ์สิทธิ์ตามคติความเชื่อเรื่องจักรวาล เชื่อว่าเป็นเส้นทางเชื่อมระหว่างโลกมนุษย์กับโลกสวรรค์ คตินี้ถือสืบกันมาในศาสนาฮินดูและพุทธศาสนานิกายมหายาน
โคปุระ
ถัดจากสะพานนาคราชเข้ามาด้านใน คือ โคปุระ หรือซุ้มประตูและกำแพงชั้นนอก ตั้งอยู่กึ่งกลางของแนวกำแพงแก้ว โดยมีช่องประตูตรงกันทั้ง 4 ด้าน ผังของซุ้มประตูเป็นรูปกากบาท ก่อด้วยหินทราย มีผังเป็นรูปกากบาทและมีซุ้มประตูลักษณะเดียวกันนี้อีก 3 ทิศ คือ ทิศเหนือ ทิศตะวันออก และทิศตะวันตก โดยมีแนวกำแพงสร้างเชื่อมต่อระหว่างกันเป็นผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยาวจากเหนือถึงใต้ 277.50 เมตร ซุ้มประตูด้านทิศตะวันตกมีทับหลังชิ้นหนึ่งสลักเป็นรูปขบวนแห่งพระพุทธรูปนาคปรกที่ประดิษฐานอยู่เหนือคานหาม กำแพงชั้นนอกนี้เปรียบเสมือนเส้นแบ่งระหว่างโลกมนุษย์และสวรรค์
บาราย
หรือ สระน้ำ ตั้งอยู่ที่มุมทั้งสี่ของลานชั้นนอกมีขนาดไม่เท่ากัน และตำแหน่งสถานที่ตั้งก็ไม่อยู่ในแนวตรงกัน แต่ก่อนบริเวณรอบบารายนี้ยังเคยเป็นที่ตั้งของวัดต่างๆ ซึ่งได้ย้ายออกไปสร้างใหม่ที่ด้านนอกปราสาทแล้ว มี 4 วัด คือ วัดสระหิน วัดพระปรางค์ใหญ่ วัดโบสถ์ (ซึ่งมีอุโบสถ เรียกกันว่า โบสถ์เจ้าพิมาย) และวัดพระปรางค์น้อย จากการที่เรียกชื่ออุโบสถว่าโบสถ์เจ้าพิมาย เพราะได้พบพระพุทธรูปสมัยอยุธยาตอนปลาย เมื่อครั้งกรมหมื่นเทพพิพิธมาสะสมกำลังตั้งตัวเป็นใหญ่ คราวเสียกรุงครั้งที่สอง เรียกว่า "ก๊กเจ้าพิมาย" ด้วย
พลับพลา
ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้ากำแพงชั้นนอก ด้านซ้ายมือของทางเดินเข้าสู่ตัวปราสาท เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เดิมเรียกว่า "คลังเงิน" จากตำแหน่งที่ตั้งสันนิฐานว่าคงเป็นที่พักเตรียมพระองค์สำหรับกษัตริย์ หรือเจ้านายชั้นสูงที่เสด็จมาประกอบพิธีกรรมทางศาสนา รวมทั้งเป็นสถานที่พักจัดขบวนสิ่งของถวายต่างๆ จากการขุดแต่งบริเวณนี้เมื่อปี พ.ศ. 2511 ได้พบโบราณวัตถุจำนวนมาก มีทั้งรูปเคารพ เครื่องประดับ และเหรียญสำริด จึงเรียกกันต่อมาว่า "คลังเงิน"
ชาลาเดินสู่ปราสาท
ก่อสร้างด้วยหินทราย เชื่อมต่อระหว่างซุ้มประตูด้านทิศใต้ของระเบียงคดที่ล้อมรอบปราสาทประธาน โดยทำการเดินยกพื้นสูงประมาณ 1 เมตร แบ่งเป็น 3 ช่องทางเดิน ผังทำเป็นรูปกากบาท จากการบูรณะพบเศษกระเบื้องมุงหลังคาและบราลีดินเผาจำนวนมาก สันนิษฐานว่าเดิมคงเป็นระเบียงโปร่ง หลังคากมุงกระเบื้องรองรับด้วยเสาไม้
บรรณาลัย
หรือหอสมุด ตั้งอยู่บริเวณลานชั้นนอก ระหว่างกำแพงแก้วและซุ้มประตูระเบียงคด อยู่ทางด้านทิศตะวันตกเป็นอาคาร 2 หลังขนาดเดียวกัน ผังอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ายกพื้นสูง ก่อด้วยหินทรายกั้นเป็นห้องยาวตลอดแนว พบร่างรอยหลุมเสารูปสี่เหลี่ยมจตุรัส คาดว่าแต่เดิมคงเป็นหลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง เชื่อกันว่าบรรณาลัย คือสถานที่เก็บรักษาคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา
ทับหลัง-หน้าบัน
ทับหลังของปราสาทหินพิมายอาจไม่โดดเด่นเท่าทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ เหมือนที่ปราสาทหินพนมรุ้ง เนื่องจากหักพังเสียหายจนไม่เหลือให้เห็น แต่มีส่วนของหน้าบันมีให้ชมอยู่หลายแห่ง ส่วนใหญ่เป็นภาพเล่าเรื่องราวรามเกียรติ์ โดยหน้าบันของมุขปราสาททั้ง 4 ด้าน มีภาพสลักต่างๆ คือ หน้าบันมุขด้านทิศใต้ สลักภาพพระอิศวรฟ้อนรำ หรือที่เรียกว่า "ศิวนาฏราช" หน้าบันมุขด้านทิศตะวันตกเป็นภาพพระกฤษณะยกเขาโควรรธนะ และเรื่องรามเกียรติ์ มุขด้านทิศเหนือเป็นภาพพระนารารยณ์สี่กร และการรบกันในเรื่องรามเกียรติ์ และมุขด้านทิศตะวันออกเป็นภาพเรื่องราวรามเกียรติ์ ตอนพระรามฆ่ายักษ์วิราธและท้าวมาลีวราชว่าความ
ปรางค์ประธาน
เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของปราสาท สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 16-17 ตั้งอยู่กลางลานภายในระเบียงคต เป็นศุนย์กลางของศาสนสถานแห่งนี้ เป็นตัวแทนของเขาพระสุเมรุ ศูนย์กลางของจักรวาล องค์ปรางค์สร้างด้วยหินทรายสีขาวทั้งองค์ สูง 28 เมตร ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมไม้สิบสองยาวด้านละ 22 เมตร ต่างจากซุ้มประตู (โคปุระ)และกำแพงชั้นใน และชั้นนอก ที่สร้างด้วยหินทรายสีแดงเป็นหลัก มีหินทรายสีขาวเป็นส่วนประกอบบางส่วน ส่วนประกอบสำคัญของปรางค์ประธานมี 2 ส่วน คือ ส่วนของมณฑป และ เรือนธาตุ ซึ่งมีการจำหลักลวดลายต่างๆ เช่น หน้าบัน ทับหลัง เสาประดับกรอบประตู ฯลฯ เล่าเรื่องราวรามเกียรติ์และเรื่องราวทางพุทธศาสนา ยกเว้นทางด้านทิศใต้ที่เป็นภาพศิวนาฏราช ภายในเรือนธาตุคือห้องครรภคฤหะประดิษฐานรูปเคารพ และมีท่อโสมสูตรไหลออกไปด้านนอก
ภาพสลักต่างๆ
นอกจากภาพสลักที่หน้าบันด้านนอกแล้ว สิ่งที่บ่งบอกว่าปราสาทหินพิมายสร้างขึ้นเพื่อเป็นพุทธศาสนสถาน คือ ภาพสลักอื่นๆ ที่ซ่อนอยู่บนคานด้านในของห้องครรภคฤหะ โดยบนมุขด้านทิศใต้นั้นเป็นภาพสลักพระพุทธรูปปางนาคปรก มุขด้านทิศตะวันตกเป็นพระพุทธรูปปางเทศนาแก่พญามาร มุขด้านทิศเหนือเป็นพระพุทธรูปปางพระวัชรสัตว์ 5 พระองค์ และมุขด้านทิศตะวันออก เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องปางสมาธิ 10 องค์ นอกจากนี้ยังมีลวดลายวิจิตรที่สามารถเดินชมได้รอบปราสาท รวมทั้งปรางค์บริวารทั้ง 2 หลัง คือ ปรางค์พรหมทัต และปรางค์หินแดงด้วย
เพิ่มความรู้ในสถานที่ท่องเที่ยวพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย
พิพิธภัณฑฯ แห่งนี้ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2507 โดยเริ่มจากการเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง ต่อมาในปี พ.ศ. 2532 กรมศิลปากรได้ปรับปรุงใหม่จนเป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ที่ทันสมัย บางการจัดแสดงออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกคือชั้นบน จัดแสดงเรื่องราวพัฒนาการของสังคมในดินแดนแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างและอารยธรรม ความเชื่อ และอิทธิพลทางวัฒนธรรมต่างๆ ในแต่ละยุคสมัย ส่วนที่สองอยู่ชั้นล่าง จัดแสดงโบราณวัตถุร่วมสมัยศิลปเขมร โบราณคดีและประวัติศาสตร์พิมาย และส่วนสุดท้ายเป็นอาคารจัดแสดงกลางแจ้ง เป็นการรวบรวมวัตถุโบราณต่างๆ เข้าชมได้ตั้งแต่วันพุธ-อาทิตย์ เวลา 09.00-16.00 น. โทรศัพท์ 0 4447 1167
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น